“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมานานกว่า ๓๐ ปี เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” ซึ่งจะนำไปสู่ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง
ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้
๑. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
๒. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
๓. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยมี เงื่อนไข ของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง ๒ ประการ ดังนี้
๑. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ฟๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ
๒. เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักใน คุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
------------------------------------------------------------------------------
ประเทศไทยกับเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นให้ผู้ผลิต หรือผู้บริโภค พยายามเริ่มต้นผลิต หรือบริโภคภายใต้ขอบเขต ข้อจำกัดของรายได้ หรือทรัพยากรที่มีอยู่ไปก่อน ซึ่งก็คือ หลักในการลดการพึ่งพา เพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมการผลิตได้ด้วยตนเอง และลดภาวะการเสี่ยงจากการไม่สามารถควบคุมระบบตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปสู่เป้าหมายของการสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจได้ เช่น ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เศรษฐกิจของประเทศจึงควรเน้นที่เศรษฐกิจการเกษตร เน้นความมั่นคงทางอาหาร เป็นการสร้างความมั่นคงให้เป็นระบบเศรษฐกิจ
------------------------------------------------------------------------------
ตัวอย่างเศรษฐกิจพอเพียง
ทฤษฎีใหม่ คือ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ของการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงที่เด่นชัดที่สุด เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากทั้งภัยธรรมชาติและปัจจัยภายนอกต่าง ๆ รวมถึงการขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทย
30/30/30/10
คืออัตราส่วนการจัดสรรที่ดินแบบทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง นั่นก็คือ การแบ่งที่ดินทำกินออกเป็น 4 ส่วน
ส่วนแรก แบ่งเป็น 30% ให้ขุดสระกักเก็บน้ำ เพื่อให้มมีน้ำใช้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี
ส่วนที่สอง แบ่งเป็น 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันสำหรับครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี เป็นการลดค่าใช้จ่าย และสามารถพึ่งตนเองได้
ส่วนที่สาม แบ่งเป็น 30% ให้ปลูกผลไม้ ไม้ยืนต้น พืชไร พืชผัก พืชสมุนไพร ฯลฯ อย่างผสมผสานและหลากหลายในพื้นที่เดียวกัน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน และหากเหลือจากบริโภคก็สามารถนำไปขายเพื่อสร้างรายได้
ส่วนที่สี่ แบ่งเป็น 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทาง คันดิน โรงเรือน และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ รวมถึงคอกสัตว์ เรือนเพาะชำ และฉางเก็บผลิตผลการเกษตร ฯ
------------------------------------------------------------------------------
เศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการทรัพยากรดิน
เป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การบริหารจัดการหน้าดิน คือหนึ่งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับเกษตรกรให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งหัวใจหลักของการจัดการหน้าดิน คือ “สร้างดินให้มีชีวิต”
1. พื้นคลุมดิน ทำให้เกิดความชุ่มชื้นแก่ดิน
2. ปรับปรุงหน้าดินโดยใช้วิธีธรรมชาติ ใช้สัตว์เล็ก ๆที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เรียกว่าเป็นการใช้ธรรมชาติในการจัดการธรรมชาติด้วยกันเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาการใช้สารเคมีซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นการทำ “เกษตรอินทรีย์”
3. ป้องกันหน้าดินถูกชะล้างด้วยกำแพงมีชีวิต (หญ้าแฝก)
4. แก้ปัญหาดินเปรี้ยว โดยแกล้งดิน
------------------------------------------------------------------------------
เศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการทรัพยากรน้ำ
“....เรื่องน้ำนี้ก็เป็นปัจจัยหลักของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้น แม้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งสัตว์ทั้งพืชก็ต้องมีน้ำ ถ้าไม่มีก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าน้ำเป็นสื่อหรือเป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นสิ่งมีชีวิต....."
1. ฝนหลวง แก้ปัญหาความแห้งแล้ง
2. ป่าไม้ ที่เก็บน้ำที่ดีที่สุด
3. ฝายต้นน้ำ เพื่อชะลอน้ำ
4. หญ้าแฝก ป้องกันดินพังทลาย
5. อ่างเก็บน้ำบริเวณเชิงเขา
6. สร้างเขื่อน เพื่อกักเก็บน้ำ สร้างสมดุล
7. ทฤษฎีใหม่ จัดการดินและน้ำอย่างยั่งยืน
8. แก้มลิง การจัดการน้ำเพื่อชุมชน
9. คันกันน้ำ บรรเทาน้ำหลาก
10. ทางน้ำผ่าน ลดน้ำหลากและช่วยภัยแล้ง
11. กังหันน้ำชัยพัฒนา แก้น้ำเสียเป็นน้ำใส
12. คลองลัดโพธิ์ ลดทางน้ำ เริ่งระบายน้ำท่วม
13. ป่ายชายเลน สมดุลธรรมชาติ เพิ่มความสมบูรณ์สู่ท้องทะเล
วันที่ 20 ธ.ค. 2567, 13:41
วันพุธ ที่ 19 ธ.ค.2567 นายชาตรี ธินนท์ รองผู้ว่าราชการจังหว...
วันที่ 20 ธ.ค. 2567, 13:38
วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2567 เวลา 18.00 น. นายโยธิน ประสง...
วันที่ 20 ธ.ค. 2567, 13:21
ขอเชิญช้อปสินค้าผ่าน Facebook LIVE ทางเพจ สำนักงานจัดหางานจังหวัด...
วันที่ 20 ธ.ค. 2567, 12:43
วันที่ 20 ธันวาคม 2567 เวลา 08.30 น. ณ ห้องรับรองผู้ว...