วันที่ (26 กุมภาพันธ์ 2564) นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย นางปนัดดา เนาวรัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำพูน, , นายชาตรี กิตติธนดิตถ์ ปลัดจังหวัดลำพูน, นายณฐกร ภัทรวนนท์ นายอำเภอบ้านธิ นางบำเพ็ญ เมืองมูล พัฒนาการจังหวัดลำพูน หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดลำพูน และสมาชิกแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำพูน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ศึกษาต้นแบบการประยุกต์ใช้ โคก หนอง นา โมเดล ในกิจกรรม ห่มดิน ปลูกผักสวนครัว การทำปุ๋ยหมักวีวภาพ และน้ำหมักชีวภาพ ที่บริเวณแปลงนาของนางสาวฐิติรัตน์ ปัญโญใหญ่ บ้านเตาปูน หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน
โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน และณะฯ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ซึ่งเป็นไม้ผล อาทิ ขนุน มะยม มะม่วง และลำไย เป็นต้น
สำหรับ “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นโมเดลต้นแบบที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติได้น้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้บริหารจัดการน้ำและพื้นที่ทำการเกษตร โดยมุ่งหวังที่จะสร้างจุดเปลี่ยนให้กับชุมชน ซึ่งแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10 กล่าวคือ 30% แรกสำหรับแหล่งน้ำ ทั้งการขุดบ่อทำหนองและการขุดคลองไส้ไก่ที่ช่วยระบายน้ำรอบพื้นที่ อีก 30 % สำหรับปลูกข้าว และอีก 30% สำหรับไว้ทำโคกหรือป่า โดยปลูกผักไว้เป็นอาหาร ปลูกไม้ใช้สอย ปลูกยาสมุนไพร ส่วน 10% ที่เหลือ สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งหากลงมือทำลักษณะเช่นนี้ในหลาย ๆ จุดของประเทศ โคก หนอง นา โมเดล ก็จะช่วยได้มากกว่าการบริหารจัดการน้ำและพื้นที่ทำการเกษตร เพราะจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนและลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงเคยรับสั่งไว้ว่า ‘น้ำคือชีวิต’ ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นความพิเศษของโคก หนอง นา โมเดล ก็คือการวางแผนเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี เพราะหากมีน้ำใช้แล้วก็จะอยู่ได้และประกอบอาชีพได้ ช่วยลดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชากร อีกทั้งยังช่วยลดความแออัด ลดการแย่งพื้นที่ทำกินในเมืองใหญ่ ลดปัญหาสังคม ปัญหายาเสพติด ปัญหาความสกปรก และปัญหาชนบทล่มสลาย โครงการในพระราชดำริของพระองค์ท่านส่วนใหญ่จึงเป็นโครงการเรื่องน้ำ ดังนั้น โคก หนอง นา โมเดล ก็เช่นกัน ได้มีการนำหลักคิดในเรื่องนี้มาปรับใช้ ซึ่งไม่เพียงจะทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปีและไม่ต้องประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว ยังช่วยลดปริมาณน้ำหลากที่จะเข้าท่วมพื้นที่ต่าง ๆ และลดการเกิดตะกอนดินทับถม เพราะมีพื้นที่กักเก็บน้ำเพียงพอและมีต้นไม้คอยดูดซับน้ำลงสู่ใต้ดิน
สำหรับหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ประกอบไปด้วยการวางแผนที่มีความละเอียดเป็นอย่างมาก ดังนั้น โคก หนอง นา โมเดล จึงใช้ลักษณะของการคำนวณการระเหยของน้ำ การคำนวณการใช้น้ำ การคำนวณการบำบัดน้ำเสีย โดยน้ำที่ได้มาในแต่ละรอบจะต้องนำไปวางแผนการผลิต ทั้งในเรื่องของการปรับปรุงดินและการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภค โดยจะต้องสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังต้องมีการปรับหัวคันนาให้สูงขึ้นถึง 2 เมตร เพื่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ วางแผนปลูกข้าว ปลูกพืชอายุสั้นอายุยาว เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในพื้นที่ โดยเฉพาะพลังงานชีวมวล ซึ่งเมื่อที่ดินดังกล่าวมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์และมีแหล่งน้ำมากเพียงพอแล้ว เมื่อฝนตกลงมาก็จะมีน้ำไหลเข้าไปยังหนอง สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ก็จะได้วางไข่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยตามธรรมชาติ ซึ่งก็จะก่อให้เกิดผลผลิตตามมา เป็นตัวสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ก็คือ ต้องสร้างกิจกรรมที่ดีและเหมาะสม เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นว่าอาชีพเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ที่สร้างอาหารให้ทุกคนได้บริโภค เป็นอาชีพที่สำคัญของโลกที่มีศักดิ์ศรี ควรมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างหลากหลายที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาพื้นที่นั้น ๆ นอกจากนี้การทำตามหลักดังกล่าวจะต้องตอบโจทย์ในเรื่องของความสวยงาม โดยทำให้เหมือนเป็นศิลปะของแผ่นดิน ให้ผู้ที่อยู่อาศัยรู้สึกเสมือนได้พักผ่อนในสถานที่ที่งดงาม ซึ่งนอกจากจะทำให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีเช่นนี้แล้ว สิ่งที่ได้รับตามมาก็คือการพัฒนาคน เพราะทุกคนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สังคมจะเกิดความมั่นคงทั้งในด้านอาหารและการเงิน
ข่าวโดย นายอานนท์ บุญมาตุ้ย เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จังหวัดลำพูน
วันที่ 20 ธ.ค. 2567, 13:41
วันพุธ ที่ 19 ธ.ค.2567 นายชาตรี ธินนท์ รองผู้ว่าราชการจังหว...
วันที่ 20 ธ.ค. 2567, 13:38
วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2567 เวลา 18.00 น. นายโยธิน ประสง...
วันที่ 20 ธ.ค. 2567, 13:21
ขอเชิญช้อปสินค้าผ่าน Facebook LIVE ทางเพจ สำนักงานจัดหางานจังหวัด...
วันที่ 20 ธ.ค. 2567, 12:43
วันที่ 20 ธันวาคม 2567 เวลา 08.30 น. ณ ห้องรับรองผู้ว...