วันที่ 10 ก.ย. 2562, 00:00 - 13 ก.ย. 2562, 00:00
การชูภาพลักษณ์ความเป็นวิถีไทย ถือเป็นภารกิจหลักที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ขานรับนโยบายจากรัฐบาลเพื่อสร้างรายได้และกระจายเม็ดเงินให้ประชาชนไปสู่ท้องถิ่น ผ่านการท่องเที่ยวชุมชนในกลุ่มเมืองรองต่างๆ ภายใต้แนวคิด Amazing Thailand Go Local ซึ่งนอกเรื่องของรายได้แล้ว ททท. ยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่มีเสน่ห์ด้านวัฒนธรรม และประเพณีที่มีเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว สร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนในชาติอีกด้วย
“ประเพณีสลากย้อม เมืองลำพูน” ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ศูนย์รวมความศรัทธาของชาวลำพูน ระหว่างวันที่ 10-13 เดือนกันยายน เกิดจากความร่วมมือของจังหวัดลำพูน องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ททท. สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน เทศบาลลำพูน วัดพระธาตุหริภุญชัย และพี่น้องชาวลำพูน นับเป็นงานประเพณีที่มีความเป็นมาและสร้างเสน่ห์ให้กับชุมชนเป็นอย่างยิ่ง
นายอนันต์ สีแดง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง รับผิดชอบพื้นที่ลำปางและลำพูน กล่าวว่า “สลากย้อม” เป็นประเพณีที่ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเกิดขึ้นที่เดียวในโลก โดยมีรากฐานมาจาก "ชาวยอง" หรือกลุ่มชาติพันธุ์ลื้อจากสิบสองปันนา ก่อนจะอพยพมาอยู่ที่เมืองยองในพม่าและย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดลำพูนอีกทีหนึ่งเมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว
ประเพณีสลากย้อมเมืองลำพูน เกิดขึ้นที่จังหวัดลำพูน เป็นส่วนสำคัญของงานประเพณี “ทานสลากภัตร” ซึ่งเป็นการทำบุญประจำปีก่อนออกพรรษา คนล้านนามักจะจัดทานสลากภัตรในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 “สลากย้อม” เป็นการถวายทานเพื่อเป็นพุทธบูชาของหญิงสาว บางพื้นที่จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นหญิงสาวที่มีอายุ 20 ปีเท่านั้น ขณะที่บางพื้นที่ไม่จำเป็น ขอให้เป็นช่วงอายุ 20 ปี โดยประมาณอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าสัก 2-3 ปีก็ได้ แต่สิ่งที่เชื่อเหมือนกันก็คือต้องเป็นหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน และเชื่อกันว่าการถวายสลากย้อมของหญิงสาวได้รับอานิสงส์ผลบุญสูงยิ่ง เทียบเท่ากับการบวชของผู้ชาย
ลักษณะพิเศษของทานสลากย้อมคือ การนำประวัติของหญิงสาวที่เป็นเจ้าภาพของงาน หรือเป็น “ผู้ทานสลากย้อม” มาแต่งเป็นคำประพันธ์ นำมาผูกเล่าทำนองโบราณเป็นเรื่องตั้งแต่เกิด จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้คนที่มาเที่ยวได้รับรู้ถึงประวัติและความดีงามของผู้ทานสลากย้อม ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับการ เรียกขวัญ (ฮ้องขวัญ) นาคที่กำลังจะบวช ซึ่งตามประเพณีล้านนา จะมีการเล่าเป็นทำนองเทศน์ล้านนา บอกเล่าประวัติของผู้ที่กำลังจะบวชให้รู้ว่า เป็นผู้ที่กำลังทำความดี สละทุกอย่าง เพื่อก้าวเข้าสู่บวรพระพุทธศาสนา
ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานลำปาง กล่าวต่อว่าในประเพณีสลากย้อม ที่กำลังจะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 10-13 กันยายนนี้ มีกิจกรรมการแสดงละคร เรื่อง “ข้าเจ้าจะทานสลากย้อม” นำเสนอเรื่องความพยายามของหญิงสาวชาวลำพูน ย้อนไปเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ที่จะถวายทานสลากย้อมให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต เรื่องราวของการแสดงสะท้อนให้เห็นกระบวนการคิดและความศรัทธาของคนในยุคนั้นที่มีต่อการทานสลากย้อม ผสมผสานกับวัฒนธรรมที่งดงามผ่านการเล่าเรื่องตั้งแต่กระบวนการสร้างสลากย้อมและขั้นตอนการเตรียมการ จนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการถวายทานสลากย้อม
ภายในงานยังมี “ประกวดต้นสลากย้อม สูงไม่เกิน 12 เมตร” เป็นการประกวดการสร้างสลากย้อมที่สมบูรณ์ มีคติความเชื่อในเรื่องศาสนาและความงดงามของการสร้างสลากย้อมที่เน้นความสวยงาม ประณีต บรรจง แต่ทรงคุณค่า ลงตัวในทรวดทรงและการใช้วัสดุท้องถิ่นมาเป็นองค์ประกอบ
ยังมี “ขบวนแห่ต้นสลากย้อมสูง 8 เมตร และสูง 4 เมตร” แห่จากหน้าศาลากลาง ผ่านถนนอินทยงยศ ถึงแยกประตูลี้ผ่านถนนรอบเมืองในเข้าสู่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร เพื่อเฉลิมฉลองการนำสายไฟฟ้าลงดินของเทศบาลเมืองลำพูน นักท่องเที่ยวจะเห็นขบวนสลากย้อมสูง 8 เมตร และสูง 4 เมตร จำนวนกว่า 100 ต้น เคลื่อนผ่านบนถนนในเมืองลำพูน โดยมีเจ้าภาพ ผู้มีจิตศรัทธาที่จะทำทานสลากย้อมออกค่าใช้จ่ายและให้ศรัทธาหัววัดต่างๆ เป็นผู้จัดสร้าง พร้อมจัดขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่งดงาม มีคนในชุมชนมาร่วมกันทั้งหมู่บ้าน โดยมีเจ้าภาพสลากย้อมเป็นผู้เดินนำหน้าต้นสลากย้อม และเล่าประวัติผู้ถวายทานด้วยทำนองโบราณที่เรียกว่า “ฮ่ำกะโลง” พร้อมการแสดงประกอบตลอดทาง
ภายในงานยังมี “การประกวดการฮ่ำกะโลง” เป็นการอนุรักษ์ส่งเสริมการอ่านเรื่องราวเป็นทำนองโบราณ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของประเพณีสลากย้อมมิให้สูญหาย ซึ่งได้รับความสนใจ โดยเฉพาะจากเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมาก
ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานลำปาง กล่าวต่อว่า นอกจากมาร่วมชมงานประเพณีสลากย้อมแล้ว นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นไฮไลต์อื่นๆ ด้วยการนั่งรถรางเที่ยวชมวัดต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต พร้อมชมโบราณสถาน และสถานที่ประวัติศาสตร์มากมายในเมืองลำพูน โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้ขับรถรางเป็นไกด์คอยบรรยายให้ฟังและในช่วงประเพณีสลากย้อมก็เปิดให้บริการด้วยเช่นกัน
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่รถรางจะพาไปชม เริ่มจาก “วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร” สถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวลำพูนและชาวภาคเหนือตั้งแต่อดีต ซึ่งเป็นจุดจอดรถและเริ่มต้นของรถราง จากนั้นภายในเส้นทางจะผ่าน อาทิ “พิพิธภัณฑ์ชุมชนเทศบาลเมืองลำพูน” อาคารเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี บอกเล่าประวัติความเป็นมาอันยาวนานของเมืองลำพูน
“คุ้มเจ้ายอดเรือน” เรือนพักอาศัย ที่เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย สร้างขึ้นเพื่อมอบให้แก่เจ้ายอดเรือน ชายาองค์สุดท้าย เมื่อปี พ.ศ.2470 มีความเก่าแก่และยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ ต่อด้วย “อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี วัดจามเทวี” วัดเก่าแก่ที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยล้านนาไทย และ “วัดมหาวัน” ต้นกำเนิดของพระรอดลำพูน พระเครื่องที่เลื่องลือในหมู่เซียนพระ สร้างมาแต่ครั้งพระนางจามเทวีขึ้นครองนครหริภุญชัยในราว พ.ศ.1200 และ “วัดพระคงฤาษี” ในวัดนี้มี “พระคง” พระเครื่องที่มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่นับถืออีกองค์หนึ่งของเมืองลำพูน
ถัดมาคือ “วัดสันป่ายางหลวง” เป็นวัดที่ติด 1 ใน 5 วัดสวยที่สุดในประเทศไทย ภายในวัดมีการแกะสลักลวดลายปูนปั้นไว้อย่างวิจิตรงดงาม ยังมี “โบราณสถานกู่ช้าง กู่ม้า” หรือสุสานช้างศึก-ม้าศึก คู่บารมีของพระนางจามเทวี และเป็นที่ศรัทธาของชาวลำพูน เมื่อต้องการสมหวังในสิ่งใดผู้คนก็มักจะมาขอพรกัน จากนั้นและปิดท้ายทริปรถรางกันที่ “วัดพระยืน” ที่มีเจดีย์พระยืนเป็นศิลปกรรมพม่าที่มีความงดงาม
“การมาร่วมงานประเพณีสลากย้อมเมืองลำพูน ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร พร้อมกับชมโบราณสถาน และสถานที่ประวัติศาสตร์ต่างๆ จะทำให้นักท่องเที่ยวได้พบว่า เมืองเล็กๆ อย่างลำพูนก็มีความหลากหลาย และเข้าใจถึงวิถีถิ่นและเสน่ห์ล้านนาได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น” ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานลำปาง กล่าวเชิญชวน
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานลำปาง รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดลำปางและลำพูน โทรศัพท์ 0-5422-2214-5 และ ศูนย์บริการรถรางนำเที่ยวลำพูน โทร. 0-5353-0757
วันที่ 1 ม.ค. 2513, 07:00 - 1 ม.ค. 2513, 07:00
9 มหัศจรรย์ล้านนาที่ลำพูน (กิจกรรมที่ 2) “วันพระแม่นั่งเมือง”
วันที่ 1 ม.ค. 2513, 07:00 - 1 ม.ค. 2513, 07:00
วันที่ 1 ม.ค. 2513, 07:00 - 1 ม.ค. 2513, 07:00
วันที่ 1 ม.ค. 2513, 07:00 - 1 ม.ค. 2513, 07:00
วันที่ 1 ม.ค. 2513, 07:00 - 1 ม.ค. 2513, 07:00