วันที่ 5 มกราคม 2566 : ที่ กลุ่มอมราผ้าฝ้ายผ้าไหมยกดอกลำพูน ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย นายอาทร พิมชะนก ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ติดตามการสืบสานภูมิปัญญาและองค์ความรู้การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยในพื้นที่จังหวัดลำพูน โดยมี นายชาตรี กิตติธนดิตถ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายโยธิน ประสงค์ความดี ปลัดจังหวัดลำพูน นางบำเพ็ญ เมืองมูล พัฒนาการจังหวัดลำพูน นายสมาน กองแก้ว นายอำเภอเมืองลำพูน พัฒนาการอำเภอทุกอำเภอ นางอมรา ทาสัก ประธานกลุ่มอมราผ้าฝ้ายผ้าไหมยกดอกลำพูน นางสาวทัศนีย์ ไชยเรืองศรี ประธานเครือข่าย OTOP จังหวัดลำพูน นายเรวัต สิงห์ศักดิ์ รองประธานเครือข่าย OTOP จังหวัดลำพูน และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน ให้การต้อนรับ โดยมีการจัดนิทรรศการผ้าไทยจากกลุ่ม OTOP ในพื้นที่ อาทิ อมราผ้าฝ้ายฯ, ดารณีไหมไทย, เพ็ญพักตร์ผ้ายกดอกจังหวัดลำพูน,บุศราผ้าฝ้าย, ชรินทร์ฝ้ายคำ, เกษร ผ้าทอ ฯลฯ
นายอรรษิษฐ์ กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าคนรุ่นใหม่คิดว่าผ้าไทยเหมาะสมกับคนสูงอายุ ทว่าพระองค์ท่านพระราชทานโครงการฯ รูปแบบแนวทาง และทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า เพื่อแสดงให้เห็นว่าผ้าไทยสามารถตัดได้หลายรูปแบบ สามารถใช้ได้ทุกวัย ทุกโอกาส ทุกวาระ เพียงแต่รู้จักนำเอามาออกแบบตัดเย็บให้ถูกใจตัวเอง พระองค์ท่านมาพร้อมวิทยาการสมัยใหม่ตามที่ทรงศึกษาเล่าเรียนด้านแฟชั่น เช่น การผลิตชิ้นงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการใช้สีธรรมชาติ รู้จักการตลาดว่าอนาคตจะนิยมสีอะไร (Pantone) เป็นต้น ทำให้ชาวบ้านสามารถมีรายได้จากการทอผ้าเพิ่มขึ้น สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัว สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม จากพระปณิธานแน่วแน่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จย่าของพระองค์ท่าน นับเป็นพระกรุณาธิคุณและเป็นที่มาที่พวกเราทุกคนจะช่วยกันเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ชุบชีวิตเส้นไหม เส้นฝ้าย ให้กลับมาโลดแล่นมีชีวิตรับใช้พี่น้องคนไทยให้มีรายได้เสริม มีคุณภาพชีวิตที่ดี
อีกทั้ง ทรงตอกย้ำถึงเรื่องการตระหนักต่อผลกระทบของภาวะโลกร้อน โดยรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนใช้ชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องทำให้คนทุกคนให้ความสำคัญกับร่างกายตนเอง สวมเสื้อผ้าและใช้สิ่งของที่ทำจากสีธรรมชาติ เพื่อไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ดังนั้น เราต้องส่งเสริมให้เกิดการน้อมนำพระดำริในการตระหนักถึง “ความยั่งยืน” ผ่านภูมิปัญญาคนไทย ทั้งการย้อมสีธรรมชาติ ย้อมร้อน ย้อมเย็น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทย เมื่อใช้สีธรรมชาติจะเป็นการรักษาโลกใบเดียวนี้ร่วมกัน
ด้านนางอมรา ทาสัก กล่าวว่า อมราผ้าฝ้ายผ้าไหมยกดอก ตั้งอยู่เลขที่ 175 หมู่ที่ 4 บ้านแม่สารบ้านตอง เริ่มดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2550 เป็นการสืบสานอาชีพทอผ้าจากบรรพบุรุษ โดยได้ฝึกฝนการทอผ้าตั้งแต่อายุ 14 ปีจากยายและแม่ จึงมีความรักความผูกพันกับเส้นไหมเส้นฝ้าย เกิดเป็นแรงบันดาลใจในทอผ้ายกดอกและมีการพัฒนาฝีมือตนเองและช่างทอผ้าในเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง จดทะเบียนเป็นกลุ่ม OTOP เมื่อปี 2552 และคัดสรรเป็น OTOP 5 ดาวเมื่อปี 2559 ผลิตผ้าทอยกดอกอันประณีตงดงามออกสู่ตลาด เป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมการทอผ้าให้คงอยู่คู่เมืองลำพูน สร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชน ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง มีเครือข่ายช่างทอที่ผลิตผ้าทอให้ จำนวนกว่า 30 คน เป็นช่างทอผ้าหมู่บ้านแม่สารบ้านตองและในอำเภอเมืองลำพูน, อำเภอทุ่งหัวช้าง โดยตนจะเป็นผู้ออกแบบลายผ้า ควบคุมกำกับดูแลคุณภาพการผลิตและผลิตภัณฑ์ผ้าทอทุกชิ้นงาน ผลิตภัณฑ์เด่นที่ร้านจะมีผ้าไหมยกดอก,ผ้าไหมยกดอกย้อมสีธรรมชาติ จะมีปริมาณการผลิตโดยเฉลี่ย 20 ผืนต่อเดือน หากเป็นผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ โดยเฉลี่ยจะผลิตได้ 10–15 ผืนต่อเดือน ขึ้นอยู่กับคำสั่งซื้อจากลูกค้า สำหรับวัสดุที่ใช้ในการย้อมสีธรรมชาติ คือ ใบก้ามปู ที่ต้นไม้ประจำจังหวัดลำพูน ใบก้ามปูสดเมื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการย้อมสีธรรมชาติกับเส้นไหมจะได้สีน้ำตาลอมเขียว ใบก้ามปูแห้ง จะได้สีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลทอง , ดอกทองกวาว ที่เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดลำพูน เมื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการย้อมสีธรรมชาติกับเส้นไหม จะได้สีส้มหรือสีเหลือง , ใบยูคาลิบตัส เป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องที่จังหวัดลำพูน ใช้ใบสดเป็นวัตถุดิบในการกระบวนการย้อม จะได้สีเขียวอ่อน เหลืองอ่อน, ไม้ฝางหรือแก่นฝาง เป็นวัตถุดิบในการย้อมสีธรรมชาติหาได้ภายในจังหวัด ให้สีชมพูและสีแดง เส้นไหมที่นำมาย้อม เป็นเส้นไหมบ้าน ได้สั่งซื้อจากเครือข่ายการทอผ้ากลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวสะพาน อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยกลุ่มมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 50,000 – 60,000 บาทต่อเดือน
อธิบดี พช.กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่กลุ่มอมราผ้าฝ้าย ซึ่งมีประสบการณ์ในการทอผ้าไหม ผ้าฝ้ายยกดอกมาอย่างยาวนาน มีกลุ่มลูกค้าประจำที่มีคำสั่งซื้อต่อเนื่องสม่ำเสมอ ด้วยกระแสของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มลูกค้าเริ่มมีคำสั่งซื้อผ้าไหม ผ้าฝ้ายยกดอกย้อมสีธรรมชาติ และด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานแนะนำการผลิตผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ ให้กับผู้ผลิตผู้ประกอบการผ้าทอทั่วประเทศ ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กลุ่มอมราผ้าฝ้ายจึงได้พัฒนาผ้าทอจากย้อมสีเคมีมาเป็นผ้าทอย้อมสีธรรมชาติเพิ่มขึ้น และได้เข้าร่วมโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญาโดยย้อมสีธรรมชาติ และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทผ้ายก/ยกเล็ก (ไหมยกดิ้น) โดยได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาในงานเทศกาลไหมไทย 2565 (Thai Silk Festival 2022) เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
#ลำพูนไม่ลำพังรวมพลังเพื่อลำพูน
วันที่ 20 ธ.ค. 2567, 13:41
วันพุธ ที่ 19 ธ.ค.2567 นายชาตรี ธินนท์ รองผู้ว่าราชการจังหว...
วันที่ 20 ธ.ค. 2567, 13:38
วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2567 เวลา 18.00 น. นายโยธิน ประสง...
วันที่ 20 ธ.ค. 2567, 13:21
ขอเชิญช้อปสินค้าผ่าน Facebook LIVE ทางเพจ สำนักงานจัดหางานจังหวัด...
วันที่ 20 ธ.ค. 2567, 12:43
วันที่ 20 ธันวาคม 2567 เวลา 08.30 น. ณ ห้องรับรองผู้ว...